แรงกระแทกต่อส่งออกไทย บนความขัดแย้งทางการค้า "สหรัฐฯ - จีน"

28 สิงหาคม 2566
แรงกระแทกต่อส่งออกไทย บนความขัดแย้งทางการค้า "สหรัฐฯ - จีน"

          แรงกระแทกต่อส่งออกไทย บนกระแสความขัดแย้งการค้า "สหรัฐฯ- จีน" รวมถึงประเด็นความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม สุขอนามัยและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: คอลัมน์ยังอีโคโนมิสต์ โดยอริสา จันทรบุญทา ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี

          ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่เริ่มต้นนับแต่ปลายปี 2561 ปัจจุบันได้กลายเป็นสงครามเทคโนโลยีและขยายวงกว้างสู่กลุ่มประเทศอื่นที่ไม่ใช่คู่ขัดแย้งโดยตรง ทั้งนี้ สหรัฐฯ ถือเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของจีน (จีนส่งออกไปสหรัฐฯ คิดเป็น 16.2% ของการส่งออกทั้งหมดหรือราว 560 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ส่วนจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของสหรัฐฯ (สหรัฐฯ ส่งออกไปจีน 8.4% ของการส่งออกทั้งหมด หรือราว 170 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)

          ดังนั้น ด้วยความสำคัญของการเป็นคู่ค้าระหว่างกัน จึงส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญทั้งการค้า การลงทุน และห่วงโซ่การผลิตที่สำคัญทั่วโลก

          จากการประเมินผลกระทบโดยตรงของสงครามการค้า โดยใช้ข้อมูลปี 2561-62 ก่อนเกิดวิกฤตโรคโควิด-19 พบว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นส่งผลให้มูลค่าการค้าจากจีนไปยังสหรัฐฯ ลดลงไปอย่างมีนัยสำคัญราว 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 11%ของมูลค่าการส่งออกจากจีนไปสหรัฐฯ ในช่วงปกติ

          ขณะที่มูลค่าการค้าจากฝั่งสหรัฐฯ ไปยังจีนหายไป 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือลดลง 17% ของมูลค่าการส่งออกจากสหรัฐฯ ไปจีนในช่วงปกติ  นอกจากนี้ การลงทุนโดยตรงจากจีนไปสหรัฐฯ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน ทั้งในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และอสังหาริมทรัพย์ ส่วนการลงทุนโดยตรงจากสหรัฐฯ ไปจีนลดลงต่อเนื่องในหมวดเทคโนโลยีสารสนเทศ พลังงานและเครื่องจักร

          แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ได้คลี่คลายกลับสู่ภาวะปกติแล้ว แต่สภาพการตอบโต้ทางการค้ากลับมีการปะทุขึ้นอย่างต่อเนื่อง  เมื่อวิเคราะห์ผลกระทบลงไปในรายหมวดสินค้า โดยพิจารณาการเปลี่ยนแปลงมูลค่าการค้าเป็นรายหมวดจนถึงปี 2565 พบว่า การส่งออกสินค้าจากจีนไปสหรัฐฯ ที่ลดลงมากตามลำดับ คือ

          เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ

          เครื่องจักรกล

          พลาสติกและส่วนประกอบ

          ส่วนประกอบรถแทรกเตอร์และรถบรรทุก

          ขณะเดียวกัน การส่งออกจากสหรัฐฯ ไปจีนลดลงต่อเนื่องในหมวดต่าง ๆ เช่น

          น้ำมันจากเมล็ดธัญพืช เมล็ดธัญพืชและผลไม้

          เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ

          เชื้อเพลิงและน้ำมัน

          สำหรับประเทศไทย แม้เกิดการไหลเข้ามาของสินค้าจากจีนที่ไม่สามารถส่งออกไปสหรัฐฯ ได้ อาทิ สินค้าหมวดเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ  และผลิตภัณฑ์เหล็ก อย่างไรก็ดี ไทยได้รับคำสั่งซื้อสินค้าจากคู่ขัดแย้งทางการค้าเพิ่มขึ้นโดยตรงในหมวดสำคัญ อาทิ

          อุปกรณ์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เช่น แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์

          ชิ้นส่วนรถยนต์

          เครื่องใช้ไฟฟ้า

          หลังจากการตอบโต้ทางภาษีนำเข้าระหว่างกันนานหลายปี (Tariff Measure) มีการปรับเปลี่ยนแนวทางในการตอบโต้ไปสู่ด้านซัพพลายมากขึ้น ผ่านการควบคุมการส่งออกวัตถุดิบและเครื่องมือที่ใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าสำคัญๆ (Non-Tariff Measure) อีกด้วย

          ล่าสุดในวันที่ 1 สิงหาคม 2566 นี้ ทางการประเทศจีนจะเริ่มควบคุมการส่งออกสินค้าประเภทแร่ธาตุหายาก 2 ชนิดที่จีนเป็นผู้ส่งออกรายหลักของโลก คือ แร่แกลเลียม (จีนผลิต 80% ของตลาดโลก) สำหรับใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ และแร่เจอร์เมเนียม (จีนผลิต 60% ของตลาดโลก) ที่ใช้ในการผลิต ผลิตภัณฑ์โซลาเซลล์และไฟเบอร์ออปติก เพื่อตอบโต้สหรัฐฯ และยุโรปที่จำกัดการเข้าถึงอุปกรณ์และเทคโนโลยีผลิตชิปของจีน

          ทั้งนี้ คาดว่าเยอรมนีและญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเพราะนำเข้าแร่ทั้งสองชนิดจากจีนโดยตรงในสัดส่วนสูงที่สุดเมื่อเทียบประเทศอื่นๆ เพื่อนำไปผลิตในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ โซลาเซลล์ และไฟเบอร์ออปติค สำหรับส่งออกไปในตลาดโลก ส่วนไทยอาจได้รับผลกระทบในระยะสั้นบ้างจากการนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์จากญี่ปุ่น (11% จากการนำเข้าทั่วโลก) แต่โดยรวมถือว่าผลกระทบไม่มากนัก

          นอกจากมาตรการกีดกันดังกล่าวข้างต้นแล้ว ในช่วงที่ผ่านมามีแนวโน้มการกีดกันทางการค้าแบบแอบแฝงมากขึ้น ผ่านการบังคับใช้มาตรการปกป้องสิ่งแวดล้อมและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อพิจารณาเฉพาะโครงสร้างการกีดกันการค้าแบบไม่ใช่ภาษี (NTMs) ผ่านสถิติที่จัดทำโดยองค์การการค้าโลกปี 2562 พบว่า ประเทศแถบเอเชียและแปซิฟิก ต้องเผชิญกับการกีดกันทางการค้าเชิงเทคนิคในการนำเข้าปลายทาง (Technical Barriers to Trade) ราว 50% การกีดกันผ่านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary) 30% และการกีดกันผ่านการส่งออกสินค้าจากต้นทางโดยตรงและกลวิธีอื่นๆ อีก 20%

          เมื่อดูเป็นรายประเทศ จีนประสบกับ NTMs สูงที่สุดในภูมิภาค ส่วนไทยเป็นอันดับที่ 5 ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกทั้งหมด ถือเป็นอันดับแรกในหมู่ประเทศกำลังพัฒนาขนาดเล็กในภูมิภาค โดยมาตรการส่วนใหญ่ที่ไทยประสบปัญหา คือ การกีดกันผ่านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชร้อยละ 47 การกีดกันทางการค้าเชิงเทคนิคในขานำเข้าร้อยละ 30 และมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีอื่น ๆ อีกร้อยละ 23 ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ มาเลเซียและอินโดนีเซีย เผชิญจำนวนการกีดกันทางการค้าในรูปแบบนี้ราวครึ่งนึงของไทย ถือเป็นสัญญาณที่น่ากังวลสำหรับภาคการผลิตและการแข่งขันของภาคการส่งออกสินค้าของไทย

          ท่ามกลางการตอบโต้ทางการค้าที่รุนแรงขึ้นของประเทศมหาอำนาจ ส่งผลให้เกิดการแบ่งขั้วห่วงโซ่การผลิตระหว่างจีนและประเทศตะวันตก (Supply Chain Decoupling) อย่างชัดเจนทั่วโลก ได้กลายเป็นประเด็นสำคัญว่า ไทยเองจะสามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จากกระแสเม็ดเงินลงทุนข้ามชาติทั้งจากจีนและประเทศตะวันตกได้อย่างไร บนพื้นฐานของการคัดกรองการลงทุนจากต่างประเทศด้วยความระมัดระวัง และเราจะสร้างศักยภาพการผลิตเพื่อรับมือกับความผันผวนในห่วงโซ่อุปทานโลกที่รุนแรงขึ้นทุกวันอย่างไร นอกจากนี้ บนเงื่อนไขการกีดกันการค้าแบบแอบแฝงผ่านกฎเกณฑ์ระเบียบโลกใหม่ ๆ รัฐบาลไทยจะสามารถสนับสนุนด้านองค์ความรู้และเทคนิคเพื่อให้ภาคเอกชนเตรียมรับมือกับกฎ กติกา และความท้าทายระเบียบโลกใหม่ให้ทันท่วงทีได้อย่างไร


แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.